วันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557







ระบำเงือก


เป็นการแสดงชุดหนึ่งที่อยู่ในละครเรื่อง สุวรรณหงส์ ตอนกุมภนฑ์ถวายม้า หลังจากที่พระสุวรรณหงส์กับนางเกศสุริยงโดยสารเรือ เพื่อจะข้ามแม่น้ำสินธุมาศกลับไปยังบ้านเมือง นางผีเสื้อน้ำซึ่งแปลงตัวเป็นยายแก่พายเรือขายขนมอยู่นั้นจึงได้ทำอุบายและผลักเกศสุริยงลงน้ำ แล้วจำแลงร่างของตนแทน แต่เกศสุริยงก็รอดตายโดยการช่วยเหลือของนางเงือกชาลีกรรมและบริวารซึ่งอาศัยอยู่ในแม่น้ำสินธุมาศ
   ผู้ประดิษฐ์ท่ารำ คือ ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี
   บทร้อง ทำนอง ดนตรี ผู้ประพันธ์คือ ครูมนตรี ตราโมท
เนื้อเพลงระบำเงือก

Smiley 24 Smiley 24 ทำนองเพลงพระเจ้าลอยถาดSmiley 24Smiley 24
                           พวกเรา เหล่าเงือกน้ำ    อยู่ประจำท้องนที
                           เนาในถ้ำมณี               อันโชติช่วงชัชวาล
                           เสพแต่สันติสุข            นิรทุกข์จากภัยพาล
                           อายุยาวยืนนาน           โดยบำราศความชรา
                           ทุกนางสำอางค์พักตร์    ศิริลักษณ์ดั่งเลขา
                           สวยสดสาวโสภา          อยู่ตลอดนิรันดร์กาล
                           เวลาคราอรุณ              แสงแดดอุ่นทั่วท้องธาร
                           บันเทิงเริงสำราญ         สำรวลรื่นชื่นฤทัย
                           ต่างผุดขึ้นผิวน้ำ           มาคลาคล่ำดำโลดไล่
                           แหวกว่ายสายน้ำใส      เล่นคว้าไขว่กันไปมา
                           ลางนางขึ้นหาดทราย    สางสยายเกล้าเกศา
                           เพ่งมองส่องฉายา         ตะลึงโลมโฉมของตน
                           ลางนางต่างรำร่าย         กรกรีดกรายสายวังวน
                           อาบแสงสุริยนต์           สุดเกษมเปรมฤดี


วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2557


Modern  Dance


โมเดิร์น ดานซ์ ในไทยสามารถสืบค้นกลับไปถึงเมื่อปี 2493 ในมหาวิทยาลัยศิลปากรได้มีการทดลองทำงานที่อาจเรียกได้ว่าเป็นศิลปะที่ใช้ร่างกายเป็นสื่อประกอบ โดยมี ประยูร อุลุชาฎะ ประธานนักศึกษา เป็นผู้จัด “ดราม่าพิเศษ” ในคืนงานรับน้องใหม่ รุ่นที่ 7 (รุ่นของ สุวรรณี สุคนธา และ ชลูด นิ่มเสมอ) ที่โรงละครแห่งชาติ ในชื่อว่า “เซอร์เรียลลิสติค มูฟเม้นท์” ประยูร เล่าว่า
มีการจัดฉากกันทันทีโดยเอาฉากเก่าๆ มาผสมปนเปกัน ใช้เทคนิคสาดแสงไฟช่วย เป็นไฟสีม่วงแกมแดงเข้ม มีสีเขียวเรืองๆ จับตามโขดหินและกิ่งไม้


พอเปิดฉาก ตัวแสดงชายนับสิบจะก้มตัวลงกอดเป็นก้อนนิ่ง ปะปนไปกับก้อนหินต่างๆมีบัลลังก์ใหญ่ตั้งเด่นอยู่ ชำเรือง วิเชียรเขตต์ รูปร่างล่ำสันนั่งนิ่งเป็นรูปปั้น ทวี นันทขว้าง แต่งตัวเป็นฝรั่ง สวมเสื้อคลุม แสดงเป็น แวน โก๊ะ กำลังเขียนรูปอย่างบ้าคลั่ง ท่ามกลางบรรยากาศสลัวๆ และเพลงแผ่วเบา
สักครู่ไฟที่หรี่ไว้เริ่มสว่างขึ้นข้างๆ จนเห็นเป็นโขดหินที่เป็นกลุ่มคนมหึมากอดกันแน่น เริ่มเคลื่อนไหวอย่างเจ็บปวดรวดร้าว ราวกับภาพเขียนแพแตกจากเรือเมดูสาของ เชอริโก บรรยากาศเงียบกริบ เพลงค่อยๆเงียบ ไฟข้างหนึ่งดับอีกข้างหนึ่งสว่างขึ้น ชำเรือง วิเชียรเขตต์ ที่นั่งนิ่งในท่ารูปปั้นของ ไมเคิลแองเจโล ก็เดินแบกก้อนหินก้าวออกมา แล้วตีลังกาโครมกลับมานั่งเป็นก้อนหินตามเดิม ทุกอย่างเงียบ ตอนนี้เพลงเปิดจนสุดเสียง กลุ่มคนก็กระจายเผละออกเป็นสัญลักษณ์ของการแตกละเอียด มีคนตัวล่ำๆ ขี่ช้างเหาะลงมาอย่างรวดเร็ว?ช่วยกันชักรอกนะครับ ไฟก็สว่างโร่แล้วดับพรึบ ปิดม่านทันที “คนดูบ่นกันพึม ดูไม่รู้เรื่องว่าอะไร ต้องดันผู้ประกาศไปประกาศว่า เราประสงค์จะให้เห็นความงามในสีแสงและดราม่า อย่าไปเอาเรื่องราว ถ้ามันเป็นเรื่อง มันก็ไม่ใช่ เซอร์เรียลลิสม์ น่ะซิ”เท่านั้นคนพอใจ เลยตบมือกราว
การแสดงในแนวทางดังกล่าวได้กลายเป็นประเพณีการแสดงอย่างหนึ่งในงานรับน้องใหม่ที่ตกทอดกันมาในคณะจิตรกรรมฯ ภายหลังได้มีการเรียก การแสดงลักษณะนี้ว่า โมเดิร์น ดานซ์ หรือ โมเดิร์น แดนซ์ และค่อยๆ หายไปในช่วงต้นพุทธทศวรรษ 2520 และถูกนำมารื้อฟื้นทำกันใหม่ในปลายทศวรรษเดียวกันนั้น เพื่อร่วมแสดงในวันศิลป์ พีระศรี แต่การแสดง “ดรามา พิเศษ” หรือ โมเดิร์น ดานซ์ จากคณะจิตรกรรมฯ ก็ไม่ได้พัฒนาไปสู่ แฮพเพนนิ่ง (Happening) หรือ ศิลปะแสดง หรือ เพอร์ฟอร์มานซ์ (Performance) อย่างจริงจังเท่าไรนัก

วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2557



การแสดงชุด "ฟ้อนขันดอก" เป็นการแสดงที่ พ่อครูมานพ ยาระนะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ปี พ.ศ. 2548 เป็นผู้ประดิษฐ์ท่าขึ้น โดยมีจุดประสงค์ในการแสดงเพื่อเป็นการฟ้อนรำบูชาพระรัตนตรัย เพื่อให้บังเกิดความสงบร่มเย็นให้แก่บ้านเมือง โดยมีอุปกรณ์ประกอบการแสดงเป็นขันดอก หรือพานไม้ใส่ดอกไม้แบบล้านนา ซึ่งใช้ตบแต่งเพื่อบูชา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในงานบุญทางศาสนา โอกาสต่าง ๆ 


วันอังคารที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2557







มัทนะพาธา เป็นบทละครพูดคำฉันท์ 5 องก์ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นทั้งหมดด้วยพระองค์เองโดยไม่ได้อิงเนื้อหามาจากที่อื่น ทรงพระราชนิพนธ์ทั้งเริ่มและจบลงในปี พ.ศ. 2466 เล่าเรื่องว่าด้วยตำนานเกี่ยวกับดอกกุหลาบ และความเจ็บปวดจากความรัก

ชื่อมัทนะพาธา

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้า อยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ พระองค์ทรงกล่าวถึงที่มาของงชื่อมัทนาว่า “...ก่อนได้ทราบว่าดอกกุหลาบเรียกว่าอย่างไรในภาษาสันสกฤตนั้น ข้าพเจ้าได้นึกไว้ว่าจะให้ชื่อนางเอกในเรื่องนี้ตามนามแห่งดอกไม้ แต่เมื่อได้ทราบแล้วว่าดอกกุหลาบ คือ “กุพชกา” เลยต้องเปลี่ยนความคิด เพราะถ้าแม้ว่าจะให้ชื่อนางว่า “กุพชกา” ก็จะกลายเป็นนางค่อมไป ข้าพเจ้าจึงค้นหาดูศัพท์ต่างๆ ที่พอจะใช้เป็นนามสตรี ตกลงเลือกเอา “มัทนา” จากศัพท์ “มทน” ซึ่งแปลว่าความลุ่มหลงหรือความรัก เผอิญในขณะที่ค้นนั้นเองก็ได้พบศัพท์ “มทนพาธา” ซึ่งโมเนียร์ วิลเลียมส์ แปลไว้ว่า “the pain or disquietude of love” (ความเจ็บปวดหรือเดือดร้อนแห่งความรัก” ซึ่งข้าพเจ้าได้ฉวยเอาทันที เพราะเหมาะกับลักษณะแห่งเรื่องที่เดียว เรื่องนี้จึงได้นามว่า “มัทนะพาธาหรือตำนานแห่งดอกกุหลาบ” ด้วยประการฉะนี้....”

เนื้อเรื่อง

เนื้อเรื่องแบ่งเป็นสองภาค คือภาคสวรรค์ และภาคพื้นดิน
ภาคสวรรค์ - กล่าวถึงสุเทษณ์เทพบุตร ซึ่งในอดีตชาตินั้นคือกษัตริย์แคว้นปัญจาล และนางมัทนา ซึ่งในอดีตชาติเป็นราชธิดาในกษัตริย์แคว้นสุราษฎร์ ซึ่งทั้งคู่ได้มาเกิดใหม่บนสวรรค์ สุเทษณ์เทพบุตรใฝ่ปองรักนางฟ้ามัทนา แต่ก็ไม่อาจจะสมรักด้วยกรรมที่เคยทำมาแต่อดีต ทำให้ไร้ซึ่งความสุขอย่างยิ่ง สุเทษณ์เทพบุตร จึงได้ให้วิทยาธรนามว่า "มายาวิน" ใช้เวทมนตร์คาถาไปสะกดเอานางมัทนาเข้ามาหา ก่อนที่มายาวินจะใช้เวทมนตร์เรียกนางมัทนา ได้ทูลสุเทษณ์เทพบุตรว่า การที่พระองค์ไม่อาจจะสมรักกับมัทนาได้ เป็นเพราะเมื่อชาติปางก่อน เมื่อพระองค์เป็นกษัตริย์แคว้นปัญจาลนั้น พระองค์ได้ไปสู่ขอมัทนาจากกษัตริย์แคว้นสุราษฎร์ผู้เป็นพระราชบิดา แต่ท้าวสุราษฎร์ไม่ให้ จึงเกิดรบกันขึ้น ในที่สุดท้าวสุเทษณ์แห่งแคว้นปัญจาลก็ชนะ จับท้าวสุราษฎร์เป็นเชลย และจะประหารชีวิตเสีย แต่นางมัทนาเข้ามาขอชีวิตพระราชบิดาไว้ และยอมเป็นบาทบริจาริกา ก่อนที่นางจะใช้พระขรรค์ปลงพระชนม์ตนเอง เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว นางมัทนาก็ไปเกิดเป็นเทพธิดาบนสวรรค์ ส่วนท้าวสุเทษณ์ก็ได้ทำพลีกรรมบำเพ็ญจนได้มาเกิดบนสวรรค์เช่นกัน
แต่อย่างไรก็ดี สุเทษณ์เทพบุตร ก็ยังยืนยันจะให้มายาวินลองวิชาดูก่อน มายาวินจึงเรียกเอามัทนามาด้วยวิชาอาคม เมื่อมัทนามาแล้ว ด้วยมนต์ที่ผูกไว้ ทำให้ไม่ว่าสุเทษณ์เทพบุตรจะถามอย่างไร มัทนาก็ตอบตามเป็นคำถามย้อนไปอย่างนั้น เหมือนไม่มีสติ สุเทษณ์เทพบุตรขัดใจนักก็ให้มายาวินคลายมนต์ ครั้นมนต์คลายแล้ว มัทนาก็ตกใจที่ตนล่วงเข้ามาในวิมานของสุเทษณ์เทพบุตรโดยไม่รู้ตัว สุเทษณ์เทพบุตรพยายามจะฝากรักมัทนา แต่มัทนามิรักตอบ จะอย่างไรๆก็ไม่ยอมรับรัก จนสุเทษณ์เทพบุตรกริ้วจัด สาปส่งให้นางลงไปเกิดเป็น ดอกกุพชกะ คือ ดอกกุหลาบ อยู่ในแดนมนุษย์ และจะกลับคืนเป็นคนได้ก็ต่อเมื่อวันเพ็ญ เพียง 1 วัน 1 คืนเท่านั้น แล้วจะกลับคืนเป็นกุหลาบดังเดิม แต่หากนางได้รักบุรุษใดแล้ว เมื่อนั้นจึงจะคงรูปมนุษย์อยู่ได้ และหากเมื่อใดที่นางมีทุกข์เพราะรัก ก็จงขอประทานโทษมายังพระองค์พระองค์จะยกโทษให้

ภาคพื้นดิน - มัทนาได้ไปเกิดเป็นดอกกุหลาบอยู่ในป่าหิมวัน ในป่านั้นมีพระฤๅษีนามกาละทรรศินพร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลาย พระกาละทรรศินได้เห็นกุหลาบมัทนาก็ชอบใจ สั่งให้ศิษย์ขุดเอากุหลาบมัทนาไปปลูกใหม่ไว้ใกล้อาศรม เมื่อถึงคืนวันเพ็ญ มัทนาก็กลายเป็นร่างมนุษย์มาคอยรับใช้พระกาละทรรศินและศิษย์ทั้งหลาย คอยปรนนิบัติเรื่อยมา พระกาละทรรศินก็รักมัทนาเหมือนลูกตัว
ต่อมาวันหนึ่ง ท้าวชัยเสนผู้ครองนครหัสดิน ได้เสด็จประพาสป่า ผ่านมายังอาศรมพระกาละทรรศิน ประจวบกับเป็นคืนวันเพ็ญ ก็ได้พบกับนางมัทนา ทั้งสองฝ่ายต่างรักกัน พระกาละทรรศินก็จัดพิธีอภิเษกให้ และนางมัทนาก็ได้เดินทางไปกับท้าวชัยเสน เข้าไปยังกรุงหัสดิน โดยไม่ได้กลับเป็นดอกกุหลาบอีก ท้าวชัยเสนหลงรักนางมัทนามาก จนกระทั่งลืมมเหสีของตนคือนางจัณฑี พระมเหสีจัณฑีหึงหวงนางมัทนา ทั้งอิจฉาริษยาเป็นอันมาก ก็ทำอุบายใส่ร้ายนางมัทนาว่าเป็นชู้กับทหารเอกท้าวชัยเสนนามว่าศุภางค์ และยุยงท้าวมคธพระราชบิดาให้มาตีเมืองหัสดิน ท้าวชัยเสนออกไปรบ ครั้นเมื่อกลับมาได้ข่าวว่ามัทนาลอบเป็นชู้กับศุภางค์ก็กริ้วจัด สั่งประหารมัทนาเสียทันที แต่เพชฌฆาตได้ปล่อยนางหนีไปเพราะความสงสาร ส่วนศุภางค์นั้น ด้วยความจงรักภักดีต่อท้าวชัยเสน ก็ออกสนามรบกับท้าวชัยเสนเป็นครั้งสุดท้ายในฐานะไพร่ทหารเลว และตายในที่รบ
มัทนาหนีกลับมายังป่าหิมวัน และได้ทำพลีกรรม์บูชาสุเทษณ์เทพบุตร จนสุเทษณ์เทพบุตรเสด็จมา และเอ่ยปากจะช่วยให้คืนสวรรค์ สุเทษณ์เทพบุตรได้ขอความรักจากนางอีก แต่มัทนามิสามารถจะรักใครได้อีกแล้ว และปฏิเสธไป สุเทษณ์เทพบุตรกริ้วนัก จึงสาปนางให้เป็นกุหลาบไปตลอดชีวิต
ฝ่ายท้าวชัยเสน ต่อมาเมื่อรบชนะท้าวมคธ และได้รู้ความจริงทั้งหมด ก็กริ้วพระมเหสีจัณฑีมาก และได้ลงอาญาไป ก่อนจะออกไปตามหามัทนาในป่า แต่สิ่งที่พบ ก็เพียงแต่กุหลาบกอใหม่อันขึ้นอยู่ยังกองกูณฑ์บูชาสุเทษณ์เทพบุตรเท่านั้น ท้าวชัยเสนทำอะไรไม่ได้อีกต่อไป แต่ด้วยความรักสุดจะรัก จึงนำกุหลาบมัทนากลับไปปลูกใหม่ยังสวนขวัญกรุงหัสดิน 



วันเสาร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2557




รำไทย 
การรำไทยเป็นการแสดงประเภทหนึ่งของ “นาฏศิลป์ไทย” มีเอกลักษณ์การร่ายรำโดยการเคลื่อนไหวประกอบกับเสียงดนตรีด้วยลีลาที่อ่อนช้อยและสอดคล้องกลมกลืนกันระหว่างส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยเฉพาะมือ แขน เท้า และลำตัว มีบทขับร้องด้วยหรือไม่ก็ได้ มีผู้แสดงตั้งแต่ 1-2 คนขึ้นไป แบ่งประเภทเป็นการรำเดี่ยว รำคู่ หรือรำหมู่ แต่งกายตามรูปแบบของการแสดง ท่ารำจะเชื่อมโยงต่อเนื่องกันและเป็นสื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าใจและลึกซึ้งถึงอารมณ์ของผู้แสดงได้ เพลงรำมีทั้งเร็วและช้า ทั้งนี้ สามารถแตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นการรำพื้นเมืองจากทางภาคใดด้วย อาทิเช่น การรำพื้นเมืองภาคเหนือ นิยมเรียกกันทั่วไปว่า “ฟ้อน” จะมีท่าทางลีลาที่อ่อนช้อย นุ่มนวล การรำพื้นเมืองภาคกลาง จะมีท่ารำสอดคล้องกับวิถีชีวิตประจำวัน รำเพื่อความบันเทิงสนุกสนาน พักผ่อนหย่อนใจหลังจากทำงาน การรำภาคอีสานส่วนมากจะเรียกว่าการรำ “เซิ้งและหมอลำ” มีจังหวะรวดเร็ว เร้าใจและสนุกสนาน น้อยคนนักเมื่อได้ยินเสียงจะยังคงนั่งอยู่กับที่เฉยๆ ได้ ส่วนการรำภาคใต้ก็จะเร็วและสนุกสนานเช่นกัน

การเรียนรำไทยถือว่าเป็นการช่วยเผยแพร่และอนุรักษ์ศิลปะอันมีค่าของชนชาติไทยให้สืบต่อไป นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาด้านสมาธิ กล้าแสดงออก เป็นคนมีระเบียบ ร่าเริง จิตใจเยือกเย็น เรียนรู้วิธีร่วมงานกับผู้อื่น และที่สำคัญเห็นได้ชัดคือ การรำไทยช่วยเสริมสร้างให้มีบุคลิกทรวดทรงที่งดงามและสมดุลกัน

วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2557

ฟ้อนที การแสดงภาคเหนือ




ฟ้อนที

คำว่า “ที” หมายถึง “ร่ม” เป็นคำภาษา “ไต” ใช้เรียกในจังหวัดแม่ฮ่องสอน “ที” ทางภาคเหนือมีลักษณะและรูปทรงแตกต่างกันไปแต่ละจังหวัด “ที” ที่ชาวแม่ฮ่องสอนนิยมใช้มีรูปทรงสวยนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบการรำได้ฟ้อนทีเป็นผลงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ของวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ จัดแสดงในงานนิทรรศการและการแสดงศิลปวัฒนธรรมของสถานศึกษาในสังกัดกองศิลปศึกษา กรมศิลปากร เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๕ การแสดงชุดนี้นำร่มมาใช้ประกอบลีลานาฎศิลป์โดยมีท่าฟ้อนเหนือของเชียงใหม่ผสมกับท่ารำไตของแม่ฮ่องสอน มีการแปรแถว และลีลาการใช้ร่มในลักษณะต่าง ๆ ที่งดงาม เช่น การถือร่ม การกางร่ม การหุบร่ม เป็นต้น

ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง

ใช้ดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือประสมวง ได้แก่ สะล้อกลาง สะล้อเล็ก ซึ่งใหญ่ ซึงกลาง ซึงเล็ก ขลุ่ย กรับคู่ กลองพื้นเมือง

การแต่งกาย

มุ่งเน้นความสวยงามของเครื่องแต่งกายตามประเพณีนิยมภาคเหนือ แบ่งเป็น ๒ แบบ คือ แบบหญิงไทลื้อ และแบบหญิงล้านนาแบบไทลื้อ นุ่งซิ่นลายขวาง เสื้อปั๊ด เกล้าผมสูงประดับดอกไม้เงิน ผ้าเคียนศีรษะประดับกำไลข้อมือ ต่างหูแบบล้านนา นุ่งซิ่นตีนจก ผ้าคาดเอว เสื้อเข้ารูปแขนยาว เกล้าผมมวยตั้งกระบังผมหน้าสูง ประดับดอกไม้เงิน เครื่องประดับมีเข็มขัด กำไลข้อมือ สร้อยคอ ต่างหู
การแสดงชุดนี้ใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาที

วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2557

ละครพันทาง เรื่อง พระลอ ตอน พระลอเข้าห้อง

  ละครพันทาง เป็นละครแบบผสม ผู้ให้กำเนิดละครพันทางคือ เจ้าพระยามหินทร์ศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ท่านเป็นเจ้าของคณะละครมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ แต่เพิ่งมาเป็นหลักฐานมั่นคงในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งแต่เดิมก็แสดงละครนอก ละครใน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ท่านไปยุโรปจึงนำแบบละครยุโรปมาปรับปรุงละครนอกของท่าน ให้มีแนวทางที่แปลกออกไป ละครของท่านได้รับความนิยมมากในปลายรัชกาลที่ ๕ และสิ่งที่ท่านได้สร้างให้เกิดในวงการละครของไทย คือ
          - ตั้งชื่อโรงละครแบบฝรั่งเป็นครั้งแรก เรียกว่า "ปรินซ์เทียเตอร์"
          - ริเริ่มแสดงละครเก็บเงิน (ตีตั๋ว) ที่โรงละครเป็นครั้งแรก
          - การแสดงของท่านก่อให้เกิดคำขึ้นคำหนึ่ง คือ "วิก" เหตุที่เกิดคำนี้คือ ละครของท่านแสดงสัปดาห์ละครั้ง คนที่ไปดูก็ไปกันทุกๆสัปดาห์ คือ ไปดูทุกๆวิก มักจะพูดกันว่าไปวิก คือ ไปสุดสัปดาห์ด้วยการไปดูละครของท่านเจ้าพระยา
          เมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรม โรงละครของท่านตกเป็นของบุตร คือ เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (บุศย์) ท่านผู้นี้เรียกละครของท่านว่า "ละครบุศย์มหินทร์" ละครโรงนี้ได้ไปแสดงในยุโรปเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยไปแสดงที่เมืองปีเตอร์สเบิร์ก ในประเทศรัสเซีย ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้มีคณะละครต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครบทละครเรื่อง "พระลอ (ตอนกลาง)" นำเข้าไปแสดงถวายรัชกาลที่ ๕ ทอดพระเนตร ณ พระที่นั่งอภิเษกดุสิต เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ได้ทรงตั้งคณะละครขึ้นชื่อว่า "คณะละครหลวงนฤมิตร" ได้ทรงนำพระราชพงศาวดารไทยมาทรงพระนิพนธ์เป็นบทละคร เช่น เรื่องวีรสตรีถลาง คุณหญิงโม ขบถธรรมเถียร ฯลฯ ทรงใช้พระนามแฝงว่า "ประเสริฐอักษร" ปรับปรุงละครขึ้นแสดง โดยใช้ท่ารำของไทยบ้าง และท่าของสามัญชนบ้าง ผสมผสานกัน เปลี่ยนฉากไปตามเนื้อเรื่อง เรียกว่า "บทละครพระราชพงศาวดาร" และเรียกละครชนิดนี้ว่า "ละครพันทาง"
ผู้แสดง          มักนิยมใช้ผู้แสดงชาย และหญิงแสดงตามบทบาทตัวละครที่ปรากฏในเรื่อง

การแต่งกาย          ไม่แต่งกายตามแบบละครรำทั่วไป แต่จะแต่งกายตามลักษณะเชื้อชาติ เช่น แสดงเกี่ยวกับเรื่องมอญ ก็จะแต่งแบบมอญ แสดงเกี่ยวกับเรื่องพม่า ก็จะแต่งแบบพม่า เป็นต้น

เรื่องที่แสดง          ส่วนมากดัดแปลงมาจากบทละครนอก เรื่องที่แต่งขึ้นในระยะหลังก็มี เช่น พระอภัยมณี เรื่องที่แต่งขึ้นจากพงศาวดารของไทยเอง และของชาติต่างๆ เช่น จีน แขก มอญ ลาว ได้แก่ เรื่องห้องสิน ตั้งฮั่น สามก๊ก ซุยถัง ราชาธิราช เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องที่ปรับปรุงจากวรรณคดีเก่าแก่ของภาคเหนือ เช่น พระลอ

การแสดง          ดำเนินเรื่องด้วยคำร้อง เนื่องจากเป็นละครแบบผสมดังกล่าวแล้ว ประกอบกับเป็นละครที่ไม่แน่นอนว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ดังนั้นบางแบบต้นเสียง และคู่ร้องทั้งหมดเหมือนละครนอก ละครใน บางแบบต้นเสียงลูกคู่ร้องแต่บทบรรยายกิริยา ส่วนบทที่เป็นคำพูด ตัวละครจะร้องเองเหมือนละครร้อง มีบทเจรจาเป็นคำพูดธรรมดาแทรกอยู่บ้าง ดังนั้นการที่จะทำให้ผู้ชมรู้เรื่องราว และเกิดอารมณ์ต่างๆจึงอยู่ที่ถ้อยคำ และทำนองเพลงทั้งสิ้น ส่วนท่าทีการร่ายรำมีทั้งดัดแปลงมาจากชาติต่างๆผสมเข้ากับท่ารำของไทย

ดนตรี          มักนิยมใช้วงปี่พาทย์ไม้นวม เรื่องใดที่มีท่ารำ เพลงร้อง และเพลงดนตรีของต่างชาติผสมอยู่ด้วย ก็จะเพิ่มเครื่องดนตรีอันเป็นสัญลักษณ์ของภาษานั้นๆ เรียกว่า "เครื่องภาษา" เข้าไปด้วยเช่น ภาษาจีนก็มีกลองจีน กลองต๊อก แต๋ว ฉาบใหญ่ ส่วนพม่าก็มีกลองยาวเพิ่มเติมเป็นต้น

เพลงร้อง          ที่ใช้ร้องจะเป็นเพลงภาษา สำหรับเพลงภาษานั้นหมายถึงเพลงประเภทหนึ่งที่คณาจารย์ดุริยางคศิลปได้ประดิษฐ์ขึ้น จากการสังเกต และการศึกษาเพลงของชาติต่างๆ ว่ามีสำเนียงเช่นใด แล้วจึงแต่งเพลงภาษาขึ้นโดยใช้ทำนองอย่างไทยๆ แต่ดัดแปลงให้มีสำเนียงของภาษาของชาตินั้นๆหรืออาจจะนำสำเนียงของภาษานั้นๆมาแทรกไว้บ้าง เพื่อนำทางให้ผู้ฟังทราบว่า เป็นเพลงสำเนียงอะไร และได้ตั้งชื่อเพลงบอกภาษานั้นๆ เช่น มอญดูดาว จีนเก็บบุปผา ลาวชมดง ลาวรำดาบ แขกลพบุรี เป็นต้น คนร้องซึ่งมีตัวละคร ต้นเสียง และลูกคู่ จะต้องเข้าใจในการแสดงของละคร เพลงร้อง และเพลงดนตรีเป็นอย่างดี

สถานที่แสดง          แสดงบนเวที มีการจัดฉากไปตามท้องเรื่องเช่นเดียวกับละครดึกดำบรรพ์

วันจันทร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2557




พิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ไทย

ส่วนที่จะโน้มน้าวจิตใจมนุษย์ให้รักษาความดี รักษาวิทยาการสืบเนื่องไปด้วยดี ทั้งยังจูงใจให้เป็นผู้มีนิสัยอ่อนโยนไม่แข็งกระด้าง
การไหว้ครู คือ การแสดงถึงความเคารพกตเวทีแด่ท่านบูรพาจารย์และครูบาอาจารย์ผู้ซึ่งได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ศิษย์ ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการ จึงพร้อมใจกันปวารณาตนรับการถ่ายทอดวิชาความรู้ ด้วยความวิริยะอุตสาหะมานะอดทน เพื่อจะได้เป็นความรู้ติดตัวนำไปประกอบอาชีพ เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตนเองในภายภาคหน้า

ประโยชน์ที่ได้รับจากพิธีไหว้ครู
1.สามารถทำให้เกิดความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในฐานะที่เป็นศิษย์มีครูเหมือนกัน
2.สามารถนำวิชาความรู้ที่เรียนมาไปถ่ายทอดได้ด้วยความมั่นใจโดยไม่ต้องกลัวว่า “ผิดครู”
3.เป็นการสร้างศิษย์ให้มีความเชื่อมั่นในวิชาความรู้ที่ได้เรียนมา กล้าแสดงออกไม่เก็บตัว
4.ทำให้มีความรู้กว้างขวางและเข้าใจในพิธีกรรมเช่นนี้อย่างชัดเจน
5.เกิดความสบายใจ หากได้ทำสิ่งใดผิดพลาดไปก็เป็นการขอขมาครู

ตำนานการไหว้ครู
          มีตำนานที่ถือว่าวันพฤหัสบดีเป็นวันครู นอกจากนี้ยังถือกันว่าเวลากลางวันพระพฤหัสบดีเป็นธาตุไฟ และเป็นธาตุน้ำในเวลากลางคืน เป็นดาวพระเคราะห์ที่ให้วิทยาความรู้แก่มนุษย์ เราจึงถือว่าวันพฤหัสบดีเป็นวันครู
เดือนที่นิยมกระทำพิธีไหว้ครู ตามแบบโบราณนิยมให้ประกอบพิธีไหว้ครูและครอบครูในเดือนคู่ เช่น เดือน 4 เดือน 6 เดือน 8 เดือน 10 เดือน 12 และเดือนยี่ แต่มีข้อยกเว้นเดือนเดียวคือ เดือน 9 อนุโลมให้จัดพิธีได้ เพราะถือว่าเดือน 9 เป็นเลขมงคลของไทยสืบมา ในบางครั้งตามคติโบราณยังต้องระบุจันทรคติเพิ่มขึ้นด้วย โดยพิจารณาอีกว่าตรงกับวันขึ้นแรมข้างใด จะนิยมวันพฤหัสบดีข้างขึ้น เพราะข้างขึ้นถือว่าเป็นวันฟู เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรือง

ความมุ่งหมายพิธีไหว้ครู
          1.เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศล ด้วยการถวายเครื่องสักการะ พลีกรรมแก่ปรมาจารย์ทั้งหลายทั้งปวง ที่มาประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้แก่ศิษย์
          2.เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดความมั่นใจในการเรียนนาฏศิลป์เป็นอย่างดี เมื่อได้ผ่านพิธีกรรมมาแล้ว
          3.เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษ หากศิษย์ได้กระทำสิ่งที่ผิดพลาดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านกายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรมก็ตาม
          4.เพื่อไว้สำหรับต่อท่ารำที่เป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงที่มีความเชื่อมาแต่โบราณว่า เพลงหน้าพาทย์บางเพลงจะต้องต่อท่ารำในพิธีไหว้ครู จึงจะเกิดเป็นสิริมงคล ทั้งแก่ผู้สอนและผู้เรียน
          5.เพื่อเป็นสิ่งเตือนสติให้ศิษย์ระลึกถึงครู อันเป็นเครื่องเตือนใจที่จะประพฤติแต่ในสิ่งที่ดีงาม อยู่ในศีลธรรมจรรยา ตั้งตนอยู่ในโอวาทคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์

ขั้นตอนการไหว้ครู
          1.จัดเตรียมสถานที่และทำความสะอาดบริเวณที่จัดให้เรียบร้อย
          2.เชิญหัวโขนหรือศีรษะครู ทั้งที่เป็นเทพเจ้า เทวดา ฤาษี และคนธรรพมาประดิษฐาน เพื่อเป็นประธานตั้งไว้บนโต๊ะที่เตรียมพร้อมแล้ว
          3.พิธีสวดมนต์ไหว้พระ จำนวน 9 รูป
          4.จัดเครื่องกระยาบวช เครื่องสังเวย เครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องสังเวยจะจัดออกเป็น 3 ชุด คือ
          - ส่วนของพระมหาเทพ เทวดา นางฟ้า เป็นอาหารสุก
          - ส่วนของพระครูฤาษี พระประคนธรรพ เป็นอาหารสุก
          - ส่วนของพระพิราพ ซึ่งเป็นเทพอสูร เป็นอาหารดิบ
          5.เชิญประธานจัดงานมาจุดธูปเทียนบูชาครู ครูผู้ประกอบพิธีแต่งชุดขาว อ่านโองการเชิญครูต่างๆ มาร่วมพิธี
          6.ดนตรีบรรเลงเพลงหน้าพาทย์แต่ละเพลงตามที่ครูผู้ประกอบพิธีจะเรียกเพลง
          7.ครูผู้ประกอบพิธีกล่าวถวายเพื่อเซ่นสังเวยต่างๆ ที่ได้จัดมา เสร็จแล้วกล่าวลาเครื่องเซ่นสังเวย
          8.ผู้มาร่วมงานรำถวายเพื่อบูชาครู ซึ่งนิยมรำเพลงช้า – เพลงเร็ว เพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงบางเพลง เช่น ตระนิมิตร ตระบองกัน คุกพาทย์ เป็นต้น
          9.ครูผู้ประกอบพิธี ทำพิธีครอบให้ศิษย์ที่มาร่วมงาน โดยนำศรีษะครูมาครอบให้ 3 ศรีษะ คือ
          - ศรีษะพระครูฤาษี อันเป็นสัญลักษณ์ครูทั่วไป
          - ศรีษะพระพิราพ อันเป็นสัญลักษณ์ครูโขน
          - ศรีษะเทริดโนห์รา อันเป็นสัญลักษณ์ครูละคร
          10.ลูกศิษย์นำขันกำนล มีดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าเช็ดหน้าขาว เงินกำนลครู 24 บาท ผู้ที่ได้รับครอบถือว่าเป็นศิษย์ที่มีครูแล้ว และในวงการนาฏศิลป์ได้รับคนผู้นี้เป็นนาฏศิลป์โดยสมบูรณ์
          11.ลูกศิษย์ที่จะจบออกจากสถาบันเป็นปีสุดท้าย จะเข้ารับมอบ โดยครูผู้ประกอบพิธีจะส่งศรพระขันธ์ให้กับศิษย์ผู้นั้นรับไว้ เปรียบเสมือนการขออนุญาตเพื่อไปสอนศิษย์ต่อไป
          12.ครูผู้ประกอบพิธีจะเจิมหน้าผาก ประพรมน้ำมนต์ พร้อมให้ของที่ระลึก และกล่าวอวยพรให้กับศิษย์ทุกคนที่เข้าพิธีไหว้ครู
          13.ศิษย์ทุกคนจะรำส่งครู ซึ่งนิยมรำโปรยข้าวตอกดอกไม้เนื้อความเป็นสิริมงคลต่อไป

กำหนดวันและเดือนที่นิยมประกอบพิธีไหว้ครู
          การจัดพิธีไหว้ครูมีข้อกำหนดว่าให้กระทำพิธีเฉพาะวันพฤหัสบดี อาจจะได้รับอิทธิพลมาจากพวก พราหมณ์ ซึ่งนับถือเทพเจ้านามพระพฤหัสบดีเป็นเทพฤกษ์ ในฐานะปุโรหิตาจารย์ที่เคารพนับถือของพระอินทร์และเทวดาอื่นๆ จึงนิยมไหว้ครูกันในวันพฤหัสบดี